“พญา” ออกแบบกระเป๋าคอลเลกชั่นพิเศษ “ณพัฒน์” เพื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา”

ประชาชนคนไทยทุกคนจะคุ้นตากับภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงงานเพื่อราษฎรมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ที่พระองค์ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระทัยเพื่อประชาชนคนไทยและประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ

บริษัท พระยา ฟิโลโซฟี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบและจำหน่ายเครื่องหนังของไทย “PHYA” (พญา) โดย คุณจิรยง อนุมานราชธน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้มีแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างกระเป๋าเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นคุณค่าความงามของความเป็นไทย โดยทีมงานทุกฝ่ายนำความเพียรของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางในการออกแบบ พร้อมร่วมกันพัฒนาให้เกิดกระเป๋าชื่อ “ณพัฒน์”

คำว่า ‘ณพัฒน์’ พ้องเสียงมาจากคำว่า นภัทร ที่แปลว่า มีความรู้เป็นสิริมงคล ส่วน ‘พัฒน์’ มาจากคำว่า พัฒนา ในที่นี้ยังหมายถึง มูลนิธิชัยพัฒนา อีกด้วย โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบกระเป๋า “ณพัฒน์” คำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องของพระองค์ท่าน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการพัฒนาแนวใหม่ต่างๆ ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นการพัฒนาในทุกๆ ด้านทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟและพลังงาน มุมที่ตัวโครงกระเป๋าจึงถูกออกแบบให้ชี้ออกไปสี่ทิศ โดยคุณจิรยงอนุมานราชธนในฐานะ Designer and Creative Director at PHYA (ดีไซเนอร์ แอนด์ ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ แบรนด์ พญา) ผู้ออกแบบกระเป๋า “ณพัฒน์” เผยว่า “ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่มีความต้องการที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประกอบกับสิ่งที่เรามี นั่นคือกระเป๋า “ณพัฒน์” ที่ตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อนำรายได้สมทบทุน มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้”

คุณจิรยง กล่าวต่อไปว่า “ความคาดหวังของโปรเจกต์นี้มีหลายด้านด้วยกัน ด้านแรกเราอยากเห็นผลงานออกมาแล้วมีคุณค่าทั้งเชิงศิลปะและการใช้งาน ถือว่าเป็นการพัฒนาอย่างหนึ่ง เพราะเราใช้ความเพียรพัฒนาในการร่วมมือกันของทุกๆ ฝ่าย และในฐานะที่เราเป็นผู้ออกแบบ แน่นอนว่าเรามีความคาดหวังว่าผลงานจะออกมาเหมือนกับแบบที่ใจเราคิด ซึ่งผลออกมาก็เป็นไปตามคาด ทั้งนี้ก็เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย เปรียบเสมือนกับภาพยนตร์ที่ถ้ามีแต่ผู้อำนวยการสร้าง แต่ขาดนักแสดงผลงานก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อได้ผลงานออกมาแต่ขาดคนดูก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ เราก็หวังอย่างยิ่งว่ากระเป๋าณพัฒน์คอลเลกชั่นพิเศษทั้ง ๙๙ ใบ จะถูกใจผู้ใช้ และยิ่งมีผลตอบรับที่ดีมากเท่าไร ทั้งทาง PHYA (พญา) และผู้ซื้อก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยระดมทุนมอบแก่มูลนิธิชัยพัฒนาได้มากเท่านั้น”

ในส่วนของตราสัญลักษณ์ของกระเป๋า “ณพัฒน์” จะเป็นรูปดอกบัวบุณฑริก ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความเพียร ที่ปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก และตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งปักด้วยเส้นด้ายผสมโลหะ สั่งทำพิเศษจากประเทศเยอรมนี ส่วนวัสดุหุ้มกระเป๋าจะทอด้วยมือจากคาร์บอนไฟเบอร์สานกับเส้นดีบุกและทองเหลืองจะมีความมันวาวเป็นพิเศษ จึงไม่มีวันหมอง โดยอาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ausara Surface (อุสรา เซอร์เฟส) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยังเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโครงการร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนาอีกด้วย

อาจารย์จารุพัชร กล่าวถึงการทำงานผ้าทอว่า "ปรัชญาของการสร้างสรรค์งานของ Ausara Surface (อุสรา เซอร์เฟส) คือ unconventional and unexpected (อันคอนเวนท์ชั่นแนล แอนด์ อันเอ็กซ์เป็คเต็ด) คือ อยู่เหนือบรรทัดฐานและเหนือการคาดเดา วัสดุที่เราใช้เป็นนวัตกรรมผ่านการคิดค้นทางวิศวกรรม เส้นใยแปรรูปมาจากธาตุคาร์บอน จนกลายเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นเส้นใยดีบุก ทองแดง ทองเหลือง สเตนเลส เราออกแบบเครื่องทอและโครงสร้างลายทอให้สามารถรองรับวัสดุที่มีคุณสมบัติหลากหลายทางกายภาพได้ ผ้าของ Ausara Surface (อุสรา เซอร์เฟส) มีทั้งที่ทอด้วยมือและเครื่องจักร สำหรับผลงานที่สร้างสรรค์ให้กับพญา เป็นการทอผ้าด้วยมือที่มีความพิเศษ ที่เราสามารถผสมเส้นใยได้หลากหลายชนิด เราปรับผิวสัมผัสของผ้าให้ประณีต แข็งแรง และทนทาน ทำการเคลือบเส้นใยดีบุกและทองเหลืองด้วยเทคนิค patina (พาติน่า) หรือการทำคราบสีโลหะ ทำการทดลองเป็นจำนวนหลากหลายสูตร เพื่อให้สีของผ้าออกมาสวยงาม เหมาะสมกับศิลปะแห่งความเป็นกระเป๋าพญา คอลเลกชั่น “ณพัฒน์” ที่สุด”

อาจารย์จารุพัชร กล่าวต่อไปอีกว่า “ณพัฒน์” รวมที่สุดของศาสตร์และศิลป์ทุกแขนงมารวมกัน ตั้งแต่วัสดุ เทคนิคการทอ ช่างถมก็ระดับชั้นครู รวมถึงการออกแบบด้วย เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดมุ่งหมายที่ทำเพื่อมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับบ้านเมืองเรา มั่นใจตั้งแต่แรกว่าผลงานจะต้องออกมาพิเศษเหนือการคาดเดาแน่นอน พอได้เห็นกระเป๋าเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราก็แน่ใจเลยว่าคนที่ซื้อไปจะต้องประทับใจมากแน่นอนค่ะ"

ตัวโครงสร้างของกระเป๋าทำจากเงินแท้ ๙๓% และสีทองได้จากการทาด้วยทองคำแท้ ๙๙.๙๙ หนัก ๒ บาท ด้วยเทคนิคไทยโบราณ ฐานของขาตั้งกระเป๋า ถูกออกแบบเพื่อให้ตัวกระเป๋าลอยขึ้นไม่กระทบพื้น จะมีรูปลักษณ์คล้ายกับฐานของกังหันชัยพัฒนา ส่วนวงรีในกรอบสี่เหลี่ยมสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนโยน แต่มุ่งมั่น แข็งแกร่ง ประดุจพระจริยาวัตรของพระองค์ท่าน

สำหรับปุ่มเปิด-ปิดกระเป๋า จะเป็นรหัสกระเป๋าตั้งแต่เลข ๑-๙๙ ส่วนหูจับกระเป๋าทำจากเครื่องถมและมีลวดลายทั่วทั้งชิ้นที่แตกต่างกันทั้งหมด ๑๐ ลาย ใน ๙๙ ใบ ใช้เทคนิคถมทองโบราณจากจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงสะท้อนเอกลักษณ์อันสวยงามของความเป็นศิลปะไทย และสามารถเก็บซ่อนในกระเป๋าได้ เพื่อเพิ่มรูปลักษณ์การใช้งานของกระเป๋าทั้งที่เป็นแบบหูจับและเป็นคลัทช์ โดยครูอุทัย เจียรศิริ ช่างถมระดับปรมาจารย์ที่มีอายุงานกว่า ๔๐ ปี ซึ่งครูอุทัยเล่าถึงมุมมองคุณค่าของงานถมว่า “แล้วแต่มุมมองนะ ผมมองว่างานของไทยมันมีความหมาย มีเสน่ห์ในทุกขั้นตอน อย่างตอนเด็กๆ ผมโดนสั่งให้บดทองอยู่ ๒ วัน (บดเพื่อให้ทองกลายเป็นผงแล้วนำไปผสมปรอทเพื่อใช้ทา) ลองนึกภาพเครื่องบดยาสมัยก่อนที่ต้องใช้แรงเราบดเพื่อให้ทองกลายเป็นผงนะครับ ตอนนั้นผมหงุดหงิดมาก เหมือนโดนแกล้ง แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการให้เราฝึกสมาธิ ให้มีความอดทน จดจ่อกับสิ่งที่ทำ ซึ่งช่วยจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่หรือตามมหาวิทยาลัยเขาก็ใช้เครื่องบดกันหมดแล้ว แต่ผมยังใช้วิธีเดิมๆ อยู่ เพราะอยากฝึกเด็กๆ ให้เหมือนกับที่เราได้เรียนมาครับ”

ครูอุทัย เผยถึงความภูมิใจของชีวิตช่างถมที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตกระเป๋า “ณพัฒน์” ว่า “ตอนเห็นงานนี้ครั้งแรก วูบแรกผมไม่ค่อยเชื่อนะครับ เพราะมีคนแบบคุณแต้วเข้ามาติดต่อผมเยอะมาก แต่คุณแต้วได้พูดถึงอาจารย์นิคม (อาจารย์เครื่องเงินจากทางใต้) บอกว่าอาจารย์นิคมแนะนำมา ผมก็เลยเชื่อกึ่งหนึ่ง ตกลงทำ พอเห็นกระเป๋าแล้วผมก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการของพระองค์ท่าน”

กระเป๋าคอลเลกชั่น “ณพัฒน์” ผลิตทั้งหมด ๙๙ ใบ โดยสีเงินมีจำนวน ๘๙ ใบ เลขรหัสปกติของกระเป๋า ราคาอยู่ที่ ๒๙๙,๐๐๐ บาท เลขรหัสพิเศษของกระเป๋าที่เป็นเลขเดี่ยว คือ ๑, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ และเลขคู่ คือ ๑๑, ๒๒, ๓๓, ๔๔, ๕๕, ๖๖, ๖๙, ๗๗, ๘๘ ราคาอยู่ที่ ๓๐๙,๐๐๐ บาท ส่วนสีทองมีจำนวน ๑๐ ใบ เลขรหัสปกติของกระเป๋า คือ ๑๙, ๒๙, ๓๙, ๔๙, ๕๙, ๗๐, ๗๙ ราคาอยู่ที่ ๔๐๙,๐๐๐ บาทโดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุน “มูลนิธิชัยพัฒนา” สำหรับกระเป๋าใบพิเศษเลขรหัส ๘๙, ๙๙ เป็นการประมูลแบบ Silent Auction ร่วมประมูลได้ถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ โดยรายได้ทั้งหมดจากการประมูลสมทบทุน“มูลนิธิชัยพัฒนา” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทั่วทุกภูมิภาค

ร่วมชมคอลเลกชั่นพิเศษ “ณพัฒน์” ได้แล้ววันนี้ ที่ช็อป PHYA ชั้น ๓ ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ เวลาเปิดทำการตั้งแต่ ๑๑.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือร่วมการประมูล โทร. ๐๒-๖๕๖-๑๓๖๕


LATEST ARTICLES
TOP Share
Social